ขอบคุณหนังสือ "เทคนิคอ่านให้ไม่ลืมที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ"
โดย "คะบะซะวะชิอง"
คุณคะบะซะวะชิองเป็นจิตแพทย์ที่โด่งดังในญี่ปุ่น ผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้มากมายอันมีประโยชน์ผ่านโซเชียลซึ่งมีผู้ติดตามล้นหลาม เป็นผู้ที่เขียนหนังสือได้ปีละหลายเล่มและเป็นหนังสือขายดีด้วย ท่านบอกไว้ว่าหากจะเขียนหนังสือหรือถ่ายทอดความรู้ให้ได้มากและหลากหลาย ก็ยิ่งจะต้องรับเอาข้อมูลและความรู้เข้าไปให้มากและหลากหลายกว่าหลายสิบเท่า ดังนั้นท่านจึงเป็นอีกคนนึงที่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีมากจนสามารถอ่านหนังสือได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 30 เล่ม การอ่านที่มากอย่างนี้ จำเป็นมากที่จะต้องอ่านแบบเข้าใจและจดจำเรื่องราวได้ จนท่านสามารถนำมาถ่ายทอดเป็นงานเขียนที่หลากหลายของท่าน หนังสือเล่มนี้ท่านได้อธิบายเทคนิคการอ่านไว้อย่างละเอียด หากทำตามแล้วมั่นใจได้ว่าจะทำให้จำได้ไม่ลืม...
First step doing something is reading. |
กฎ 3 ข้อ อ่านแล้วจำได้ไม่ลืม
1. อ่านแล้วต้อง"ส่งออก" 3 ครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ เพราะเมื่ออ่านสมองจะเก็บข้อมูลไว้ชั่วคราวที่ฮิปโปแคมปัส ซึ่งจะทยอยลบข้อมูลออกใน 1-2 สัปดาห์หากข้อมูลนั้นไม่ถูกเรียกใช้เลย (เช่นเดือนที่แล้ววันเดียวกันคุณกินมื้อเที่ยงอะไรที่ไหน คงจะนึกไม่ออกแล้ว) แต่ถ้าข้อมูลนั้นมีการเรียกใช้ 3 ครั้งภายในเวลาที่บอกไว้ สมองจะเริ่มจำว่าข้อมูลนี้สำคัญ จึงย้ายข้อมูลนี้ไปเก็บที่สมองกลีบขมับ ซึ่งเป็น "คลังเก็บความทรงจำ" วิธีการส่งออก มี 4 วิธี ได้แก่
1) อ่านไปโน็ต/ไฮไลท์ข้อความไป
2) เล่าเนื้อหา/แนะนำหนังสือให้เพื่อน
3) แบ่งปันสิ่งที่ฉุกคิด/คำคมบน Facebook (นี่ก็จุดประกายให้เราคิดที่จะสรุปสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือส่งออกให้คนอื่นผ่านบล็อกนี้และแชร์ผ่าน Facebook)
4) เขียนบทวิจารณ์หนังสือ (ผู้เขียนแนะนำว่า ควรเริ่มเขียนหลังจากอ่านจบแล้วไม่น้อยกว่า 1 วัน เพื่อให้ปราศจากอารมณ์ที่คงค้างจากการอ่าน จะได้วิจารณ์อย่างเป็นกลางไม่มีอคติ)
นอกจากนี้ การใช้อารมณ์ขณะอ่านจะช่วยให้จำได้นานแม้ไม่ได้ส่งออก เช่น อารมณ์สนุก ความสุข ความรัก ความตื่นเต้น และความกลัว
2. อ่านช่วงสั้น ๆ 15 นาที เพราะคนเรามีสมาธิแค่ 5 นาทีแรก กับ 5 นาทีสุดท้ายที่อ่าน ดังนั้นให้แบ่งอ่านสั้น ๆ จะมีช่วงที่มีสมาธิมากกว่าอ่านรวดเรียวยาว ๆ ยกเว้นรู้สึกสนุกมากก็อ่านรวดเดียวจบได้ในช่วง 45 นาที/ 90 นาที เท่านั้น เพราะคนเรามีสมาธิได้ยาวนานแค่นี้ นี่คือสาเหตุที่กำหนดให้นักฟุตบอลเล่น 45 นาที 2 ช่วง
3. ทำความเข้าใจเนื้อหา โดยอ่านตีความให้เข้าใจลึกซึ้ง จนนำไปคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ สแกนภาพรวมหนังสือก่อน กำหนดเป้าหมายว่าอยากรู้อะไรให้ข้ามไปอ่านเนื้อหาที่อยากรู้ก่อนจะได้จำแม่น
นอกจากนี้ท่านยังได้แนะนำถึงข้อดีของอีบุ๊กว่าราคาถูกกว่าหนังสือ พกพาได้สะดวก ไม่สิ้นเปลืองเรื่องหาที่จัดเก็บ และเราควรซื้อหนังสือให้สมดุล กล่าวคือ เพื่อเสริมจุดเด่น เป็นหนังสือเกี่ยวกับงานที่ทำ เนื้อหาปานกลางถึงยาก เพื่อลดจุดด้อย เป็นหนังสือเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ควรเริ่มจากเนื้อหาง่าย ๆ พื้นฐาน
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า You are what you read คุณเป็นในสิ่งที่คุณอ่าน
และ You are what you write คุณเป็นในสิ่งที่คุณเขียน
ท่าจะจริง เพราะอ่านกับเขียนนั้นสัมพันธ์กันแน่ ๆ
ไม่มีนักเขียนคนไหนจะสร้างงานเขียนได้ หากไม่รู้จักอ่านให้มากพอ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น