การออกแบบความสุขด้วยตัวเอง (Happiness Mastery)
Cr. ครูเปิ้ล สุดารัตน์ ศิริวรางกูร
มีโอกาสได้เรียนคอร์สออนไลน์ฟรี : Happiness Mastery หน้าเพจ IDEO Empowerment ทางFacebook
แล้วรู้สึกว่าเป็นของฟรีที่ดี อยากสรุปและมาส่งต่อค่ะ
คิดว่าเนื้อหาสาระทั้ง 30 วัน มันตอบโจทย์คนสมัยนี้จริง ๆ
ที่มักจะรู้สึกทุกข์ได้ง่าย ในขณะเดียวกันก็มีความสุขได้ยากขึ้นทุกวัน ๆ
สุขแบบมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน |
อันดับแรก ถอนพิษออกก่อน
พิษที่ว่านี้คือ Toxic ของชีวิต ได้แก่
1. การแปะฉลากทางความคิด
ฉลากทางความคิด คือความคิดลบของเรา ที่เกิดขึ้นเมื่อเราเจอสถานการณ์ต่าง ๆ
ซึ่งเราจะแปะให้ตัวเองและแปะให้คนอื่น ซึ่งมันอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้
แต่มันจะทำให้เราปฏิบัติต่อคนอื่นผิดไปจากความจริง
เช่น เจอคนรู้จักบางคนแล้วเราเดินเข้าไปทักทายเขา
เราคาดหวังว่าเขาจะยิ้มแย้มพูดทักทายกลับมา แต่เขากลับเฉย ๆ ไม่ยิ้มให้ด้วย
เราเลยแปะฉลากทางความคิดให้ตัวเองเลยว่า เรามันคนไม่สำคัญเขาไม่อยากคุยด้วย
หรือแปะฉลากความคิดที่เขาว่า เป็นคนหยิ่ง ไม่น่ารักเลย
จริง ๆ แล้วเขาอาจจะกำลังคิดอะไรอยู่ หรือเจอเรื่องแย่ ๆ ก่อนเราเขาไปทักทายเขาก็ได้
เมื่อเรายึดติดกับความคาดหวัง ว่าต้องอย่างงี้ มันจะทำให้เราไม่มองความเป็นจริง
เราจะทุกข์
"เมื่อเราแปะฉลากทางความคิด ให้กับตัวเองและผู้อื่น
เมื่อนั้นเราจะไม่รู้ความจริง ไม่เติบโต ไม่พัฒนา"
2. I am ok, you are not ok.
เราจัดวางตัวเอง อยู่เหนือคนอื่น
เราจะไม่ฟังใคร อีโก้จัด พัฒนาตัวเองไม่ได้
เพราะไม่มีใครอยากคุยด้วย ไม่มีใครช่วย
3. I am not ok, you are ok.
เราคิดว่าคนอื่นเก่งกว่า เราเลยฟังเขา
ทำให้เราติดกับดักตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงเรื่อย ๆ
จะไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง
วิธีแก้คือ I am ok, you are ok.
เพราะความรู้ ประสบการณ์ของแต่ละคนนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้
"มนุษย์เราเป็นสิ่งเดียวที่พิเศษที่สุดในโลก
เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้"
4. Black and White
มองโลกไม่ขาวก็ดำเลย
ไม่ได้มองโลกตามความจริงว่ามันเป็นสีเทามีเข้มมีจางหลายเฉดสีลดหลั่นลงมา
คนดี ๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะโมโห เหวี่ยงวีนได้ในบางวัน บางเวลา
เราต้องเผื่อพื้นที่ให้ทุกคนมีพื้นที่สีเทา ๆ บ้าง
5. เลิกเป็นเหยื่อ
เปลี่ยนจากผู้ถูกกระทำ มาเป็นผู้กระทำ
ถ้าเราโทษสถานการณ์สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เราจะเป็นเหยื่อ
ย้ายอำนาจความสุขความทุกข์ มาอยู่ที่ตัวเรา
เราเป็นคนเลือกเอง (ไม่ใช่สถานการณ์หรือคนอื่น)
ว่าจะสุข จะทุกข์กับเรื่องไหน เรารับผิดชอบชีวิตตัวเอง
ถ้าเราไม่รู้จักตัวเองดีพอ เราจะดูแลรักษาตัวเองได้ยังไง
แม้ว่าจะมีความทุกข์บ้าง ก็คิดซะว่าเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง
เพื่อเติบโต
เพิ่มพลังความสุขให้ตัวเอง ด้วยตัวเอง และลดความทุกข์ที่เกิดจากคนอื่น
เพราะเราเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง
ถัดมาคือ ศึกษาวิธีคิดและวิธีการ นำไปลงมือทำ
1. ศิลปะการปล่อยวาง
ยุคนี้ใครมีความสุขก่อน คนนั้นชนะ
ไม่มีใครให้สูตรสำเร็จความสุขกับคุณได้
คุณต้องกลับไปดูแลตัวเอง
เวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น อย่าเพิ่งตัดสิน ตีความ
ให้ฝึกเอ๊ะในใจว่าอาจมีสาเหตุจาก อื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากคำตอบเราอย่างเดียว
ฝึกคิดตามความเป็นจริงที่มีมุมมองหลากหลายมากขึ้น
คิดดีต่อใจมีความสุข
"สิ่งที่น่ากลัวคือไม่รู้ว่าความสุขของตัวเองคืออะไร
ที่น่ากลัวกว่าคือ รู้ว่าความสุขคืออะไรแต่ไม่ทำ
ถ้าอยากมีความสุข กำหนดเวลา ลงมือทำ
เพราะมันเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน"
2. ก้าวข้ามความกลัว
คนที่ไม่กล้า มักจะอยู่ในที่เคยชิน (comfort zone)
และมักจะแคร์ผลลัพธ์
กลัวอะไรให้เผชิญหน้ากับมัน
แบบค่อยเป็นค่อยไป
เอาวะ ทำเลย เสร็จแล้วก็ ช่างแม่ง
"คนเก่ง คือคนที่พยายามก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเอง"
3. ฝึกมีความสุข เราต้องทำซ้ำ ๆ
ความสุขเป็นทักษะ ฝึกได้ เรามีความสุขได้เลยวันนี้
ความสุขมี 3 ระดับ
1. สุขกาย สบายใจ
2. ชีวิตมีเป้าหมาย (คือชีวิตที่ยังอยากอยู่ต่อไป)
3. ชีวิตที่มีความหมาย (คือชีวิตที่มีแรงบันดาลใจ)
เช่น อยากดูแลตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อดูแลคนที่รัก
4. วงล้อชีวิต หมุนให้สมดุล
มี 8 ด้าน เราควรจัดให้สมดุล
เพราะถ้าให้ความสำคัญส่วนไหนมากเกินไป
เมื่อไม่เป็นไปตามที่หวัง ชีวิตจะพังทันที
เฉลี่ยความสุขให้สมดุลทุกด้านตามความเป็นจริง
วงล้อชีวิต 8 ด้าน |
เราลองให้คะแนนแต่ละด้านดูว่า เต็ม10
เราให้ความสำคัญแต่ละด้านกี่คะแนน สมดุลมั้ย
ในด้าน
1.งาน 2.เงิน 3.เพื่อน/สังคม 4.วัตถุ
5.สุขภาพจิต 6.สุขภาพกาย 7.ครอบครัว 8.ความชอบส่วนตัว
5. การมองเห็นความจริง
ความจริง จริง ๆ คือ สิ่งที่เราไม่ตัดสิน ไม่ตีความ ไม่เหมารวม
เพราะเมื่อเราตัดสิน มันจะเกิดอารมณ์ เราจะไม่ฉลาด จิตใจคับแคบ
เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นปุ๊บ ลองดูว่าจริง ๆ แล้ว มันเพราะอะไรกันแน่
ถ้าทำได้ เราจะเห็นความจริง จริง ๆ ชีวิตจะปกติสุขขึ้น
กฤษณมูรติ "ความฉลาดสูงสุดของมนุษย์
คือการที่สังเกตอะไรที่เป็นความจริง จริง ๆ โดยไม่ตัดสิน และตีความ"
6. การสื่อสารอย่างสันติ
เมื่อเห็นเหตุการณ์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดและการกระทำของตัวเอง หรือของคนอื่น
ที่เรามองเห็นนั้น เปรียบเสมือนส่วนของก้อนน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำซึ่งมีขนาดเล็กนิดเดียว
แต่ก้อนน้ำแข็งส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้น้ำนั้น เปรียบได้กับ ความรู้สึกและความต้องการ
ของตัวเอง หรือคนอื่นที่อยู่เบื้องหลัง คำพูดและการกระทำที่เรามองเห็นได้ด้วยตา
เพราะฉะนั้น หลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิตที่เรารู้สึกเบื่อหรือบ่นออกมา
ให้ย้อนลงไปดูก้อนน้ำแข็งใต้น้ำที่ลึกลงไป ว่าจริง ๆ แล้ว
เรารู้สึกยังไง... เราต้องการอะไร...
เพราะเมื่อเรารู้ความต้องการของเราจริง ๆ
เมื่อไหร่ที่เราเห็น เมื่อนั้นเราจะสุขใจ เหมือนได้รับการเติมเต็ม
มันสำคัญมากเพราะเมื่อเรารู้ว่าเราต้องการอะไร เราสามารถเลือกวิธีการสื่อสารออกไป
ให้ฉลาดและน่าจะเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลตรงกับความต้องการของเรา
การสื่อสารมี 4 แบบ
1. ยี่ราฟหูเข้า คือ เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง เข้าใจความต้องการของตัวเอง
2. ยี่ราฟหูออก คือ เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เข้าใจความต้องการของคนอื่น
3. หมาป่าหูเข้า คือ โทษตัวเอง ไม่เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง
4. หมาป่าหูออก คือ โทษคนอื่น ไม่เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนอื่น
ด่ามาด่ากลับ ตอบโต้กลับไป
"ฝึกพัฒนาตัวเอง เป็นยี่ราฟหูเข้า และยีราฟหูออก เพราะมีจิตใจเปิดกว้าง มองรอบด้าน
เลิกเป็นหมาป่าหูเข้า และหมาป่าหูออก เพราะจิตใจคับแคบ"
7. รักษาสุภาพร่างกายให้ดี
เพราะสุขภาพกายที่ดีจะช่วยให้เราอยู่ในภาวะ Cold stage ได้ง่าย
Cold stage คือภาวะปกติที่เรากินอิ่ม นอนหลับเพียงพอ ไม่มีอะไรกดดัน
เราเป็นเรามีความรู้สึกควบคุมอะไรได้ง่าย
Hot stage คือภาวะที่เราไม่พร้อม เช่น ร้อน เหนื่อย หิว ง่วง พักผ่อนไม่เพียงพอ
มีเรื่องงาน/ส่วนตัว คอยกดดัน เราจะไม่เป็นตัวเอง ปรี๊ดแตกง่าย
การรักษาสุขภาพร่างกายจึงสำคัญมาก
เพราะจิตใจที่ดีย่อมอยู่ในร่างกายที่ดีเท่านั้น
8. กฎ10/90
การตอบสนองต่อสถานการณ์ใน 10 วินาทีแรก
มักจะกำหนดผลลัพธ์ 90% ของชีวิตเรา
เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ให้ถามตัวเองก่อนว่า
เรารู้สึกและต้องการอะไร
เขารู้สึกและต้องการอะไร
มองให้ลึกลงไปในภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำนั้น
จากนั้นค่อยเลือก "วิธีการ"ตอบสนองที่ถูกต้อง
กับความรู้สึกและความต้องการของเรา (แบบยีราฟหูเข้า)
หรือความรู้สึกและความต้องการของเขา (แบบยีราฟหูออก)
"ชีวิตเป็นอย่างที่เราทำ เลือกวิธีการที่ถูกต้อง ก่อนส่งออกไป"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น