12 บทเรียนชีวิต ข้าราชการพลเรือน 7 ปี

หลังจากเรียนจบป.ตรี ฉันทำงานในภาคเอกชนมาก่อนหลายปี จากนั้นจึงสอบและได้บรรจุเป็นข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ 26 กันยายน 2555 จนวันนี้ 27 กันยายน 2562 ครบ 7 ปีแล้ว...(เวลาผ่านไปเร็วจริง ๆ)

ด้วยประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้น ด้วยความผิดพลาดมากมายที่ได้เรียนรู้ในภายหลัง
ทำให้เข้าใจว่า คนเรามีทัศนคติในการทำงานและใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ตามลักษณะอาชีพ วัย สถานการณ์ที่เราเจอ มันจะค่อย ๆ หล่อหลอมให้เรา เป็นเราอย่างทุกวันนี้ ค่อย ๆ เปลี่ยนตัวตน ค่อย ๆ  เรียนรู้ เข้าใจ บางข้อผิดพลาดเราเรียนรู้แล้วไม่พลาดซ้ำ บางเรื่องก็ยังคงก้าวข้ามไม่ได้ อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเรื่องปกติ ยังมีเวลาเสมอสำหรับการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน พัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ในการใช้ชีวิต

วางแผนแต่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์


12 เรื่อง ที่ฉันได้รับ ปรับเปลี่ยนและเรียนรู้

1. "อุ่นใจ" ข้าราชการไม่สบายกายแค่ไหน ยังไง ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเข้ารักษาโรงพยาบาลรัฐฟรี เป็นสวัสดิการเบอร์หนึ่งของอาชีพนี้เลย มีบ้างที่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ก็หลักสิบหลักร้อย นาน ๆ ครั้งเท่านั้น

2. "ฝึกความอดทน" การที่เราต้องไปหาหมอรพ.รัฐเท่านั้น เพื่อใช้สิทธิที่มี ทำให้ต้องรอคิวตรวจนานมากจนรู้สึกเคยชินทำให้เราใจเย็นขึ้น และงานส่วนใหญ่ก็มีกรอบ/ระเบียบจากเบื้องบนสั่งมาแล้ว ทำตาม อย่างเดียว อย่าคิดเยอะ พลิกแพลงมากไม่ได้ ยกเว้นขั้นตอนงานที่เกี่ยวกับเราจริง ๆ เท่านั้น

3. "ลดอัตตา" อยู่ในองค์กรใหญ่โครงสร้างบริหารมีลำดับหลายชั้นมาก เราเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้น จะพลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ ตามใจชอบนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก ยกเว้นงานนั้นอยู่ในขอบเขตเราเพียงคนเดียว/เพื่อนร่วมงาน เจ้านายในหน่วยงานเล็ก ๆ ของเราเห็นด้วย

4. "ระมัดระวัง ไม่ชัวร์ ไม่ฟันธง" การทำงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระเบียบซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชน  ต้องรอบคอบเรื่องคำพูดและการกระทำ เพราะคำตอบสำหรับคำถามเรื่องกฎหมายที่เราตอบเขาไปนั้น บางครั้งมันสามารถตีความได้หลากหลาย หากเราไม่เข้าใจเจตนารมณ์กฎหมายนั้นจริงแล้ว  ไม่ควรตอบคำถามเอง เพราะจะมีความรับผิดชอบผูกติดมาด้วยหากเกิดความผิดพลาด ดังนั้นเมื่อไม่มั่นใจควรส่งต่อให้กลุ่มงานที่เขาออกกฎหมายมาตอบโดยตรงจะดีกว่า

5. "Work Life Balance" มีเวลาทำเรื่องส่วนตัวในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ วันลาพักผ่อน โดยไม่ต้องกังวล/เครียดเรื่องงาน โดยส่วนใหญ่แล้วงานมักจะจบในเวลางาน หากคาบเกี่ยวต่อเนื่องให้รู้สึกต้องกังวลอยู่บ้างก็มีไม่บ่อยครั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากเรารับผิดชอบบริหารงานในหน้าที่ได้ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็พักได้อย่างสบายใจ มีเวลาออกกำลังกายเต็มที่หลังเลิกงานด้วย

6. "ฝึกการอดออม" เพราะเงินเดือนตอนเริ่มงานน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ต้องบริหารจัดการเรื่องกินใช้ให้สมกับรายได้ ทำให้เราเป็นคนกินง่าย อยู่ง่ายมากขึ้น อาหารจานเดียว ทำกับข้าวมากินที่ทำงาน สรรหาของกินใช้ที่ถูกและดี เลี่ยงการสร้างหนี้สินเกินตัว

7. "ฝึกใจให้นิ่ง สื่อสารกับคนหลากหลายให้ได้" ด้วยงานที่ต้องติดต่อกับคนหลากหลายอาชีพ การศึกษา ฐานะ ต่างหน่วยงาน ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราพูดคือสิ่งเดียวกันแต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจเราได้ตรงกันตามที่เราพูด ดังนั้นเราต้องปรับใจ ปรับคำพูด รับฟังคนที่คุยด้วยว่าเขาต้องการอะไร ใช้ภาษาระดับเดียวกับเขาจะช่วยให้เขาเข้าใจและยอมให้ความร่วมมือด้วย

ฝึกเห็นความคิดความรู้สึกตัวเองให้ทัน เดี๋ยวมันก็มา เดี๋ยวมันก็ไป


8. "รู้จักปล่อยวาง" เมื่อเริ่มบรรจุทำงานเรามักเริ่มในตำแหน่งงานเล็ก ๆ ก่อน ดังนั้นหน้าที่และอำนาจตามตำแหน่งจะไม่เอื้อให้เราสามารถตัดสินใจหรือรับผิดชอบงานใดได้มากนัก เราจึงมักจะเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้เสมอ เกินขีดความสามารถของเราบ้าง จึงทำได้แค่เพียงยอมรับและทำความเข้าใจ/ทำใจ และทำงานในขอบเขตรับผิดชอบของเราต่อไปให้ดีที่สุดก็พอ

9. "รู้จักวางตัวในจุดที่เหมาะสม" ข้าราชการมีการโยกย้ายบ่อยครั้ง เพื่อการเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้นเราจึงเลือกเจ้านาย และเพื่อนร่วมงานที่ถูกใจเราทั้งหมดไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือ รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร รับผิดชอบมันให้ดี หน้าที่ของคนอื่นถ้าไม่เกี่ยวข้องกับเราเลยก็ไม่ต้องไปยุ่งปล่อยเป็นเรื่องของเขา ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ในบางสถานการณ์งานที่ถูกต้องกับถูกใจอาจสวนทางกัน เราต้องคิดให้รอบคอบว่าจุดยืนและความรับผิดชอบเราคืออะไร ผลกระทบต่อเจ้านายและเพื่อนร่วมงานคืออะไร ชั่งน้ำหนักให้ดี ทั้งนี้ต้องรู้จักวิธีป้องกันตัวเองด้วย

10. "เรียนรู้คน ไม่คาดหวังใคร" รู้หน้าไม่รู้ใจ รู้คำพูดการกระทำที่เขาแสดงต่อหน้า แต่ไม่รู้ตอนลับหลัง ดังนั้นเราทำได้เพียงให้เกียรติตัวเอง ให้เกียรติคนอื่นตามมารยาทที่ควรทำ ทำดีกับคนอื่่นตามระดับความดีที่เรามี แต่ไม่คาดหวังว่าเขาจะดีกับเราหรือไม่ การรู้จักสังเกตพฤติกรรมคนในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ประกอบกับใช้เวลาให้นานพอ จะช่วยให้เราเห็นภาพอะไรชัดเจนมากยิ่งขึ้น

11. "ปล่อยผ่านเรื่องเล็ก ใจจะเบา"
ในสังคมคนทำงาน เป็นเรื่องปกติที่เราจะเจอคนซุบซิบนินทา เข้าใจผิด อิจฉา กลั่นแกล้ง เปรียบเทียบ เอาเปรียบ ไปบ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ เราไม่ควรเสียเวลาและให้ค่ากับคนและเรื่องเหล่านี้ เอาเวลาไปมีความสุข สร้างสรรสิ่งดี ๆ ในชีวิตตัวเองดีกว่า เพราะทุกสถานการณ์ที่เราเลือกทำหรือไม่ทำอะไร จะมีคนคอยตีความทุกการกระทำของเราอยู่แล้ว เขามีสิทธิที่จะคิดเห็นในมุมมองของเขา เราเองก็มีสิทธิคิดและทำในมุมมองของเราเช่นกัน สิ่งสำคัญคือเราต้องมั่นใจว่า เรารู้จักตัวเองดีพอ รู้สิทธิและหน้าที่ของตัวเองว่าคืออะไร ทำถูกต้องและสร้างความเดือดร้อนให้ใครหรือไม่

12. "มองทุกปัญหาให้เป็นโอกาส" เขาจ้างเรามาแก้ปัญหา หน้าที่คือ ไม่บ่น/บ่นให้น้อยที่สุด มองให้เห็นโอกาสและหาทางแก้ไขปัญหาให้เจอ เราจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ผ่านปัญหาไปได้ อย่าบ่น/ด่าใครพร่ำเพรื่อ เพราะลึก ๆ แล้ว ไม่มีใครอยากฟังคำบ่นคำด่า คำเหล่านี้เหมือนก๊าซพิษมันจะทำให้เราหาทางออกไม่เจอวนติดอยู่กับปัญหา ขอให้ใช้พลังงานและเวลาไปลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาจะดีกว่า

เมื่อเวลาผ่านไป บทเรียนใหม่จะเพิ่มเข้ามา บทเรียนเก่าก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป...

เมื่อโลกภายในของเราเปลี่ยน โลกภายนอกที่เราเห็นจะเปลี่ยนตาม




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น